[x] ๏ฟฝิดหน๏ฟฝาต๏ฟฝาง๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ
 
 
 
 


เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : การศึกษา
หัวข้อเรื่อง : ข้อคิดจากการประชุมประกันคุณภาพการศึกษา นำสู่การพัฒนา “คุณภาพ ศิษย์ กศน.”

อังคาร ที่ 13 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2555

คะแนน vote : 147  

 

ข้อคิดจากการประชุมประกันคุณภาพการศึกษา นำสู่การพัฒนา “คุณภาพ ศิษย์ กศน.”

 
สุกัญญา จันทะสูน
สำนักงาน กศน.จังหวัดพิษณุโลก

                         สืบเนื่องจากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมประชุม วิชาการระดับชาติ พ.ศ.๒๕๕๕ “การประกันคุณภาพการศึกษาไทยใต้ร่มพระบารมี” ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา ซึ่ง สมศ. ได้จัดงานดังกล่าวขึ้น ในโอกาสครบรอบ ๑๒ ปี สมศ. เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ ๘๕ พรรษา โดยการจัดงานประชุมวิชาการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ เพื่อรายงานคุณภาพการจัดการศึกษาจากการประเมินคุณภาพภายนอกและรายงานผลการดำเนินงาน ของ สมศ.ในรอบ ๑๒ ปี กระตุ้นให้เกิดพลังภาคีเครือข่ายในรูปแบบห่วงโซ่คุณภาพในการขับเคลื่อนความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นการร่วมกันสร้างวิถีชีวิตคุณภาพสู่วัฒนธรรม ตลอดจนได้งานวิจัยด้านคุณภาพการศึกษาไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการ ทุกชุดของ สมศ. ผู้ประเมินภายนอก ผู้ประเมินอภิมานภายนอก เครือข่ายของ สมศ. ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารหน่วยงานทางการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ผู้สนใจทั่วไป ประมาณกว่า ๙,๐๐๐ คน โดยได้รับเกียรติจาก ท่าน ดร.นลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การประกันคุณภาพการศึกษาไทยใต้ร่มพระบารมี” โดยมี ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร สมศ. กล่าวรายงาน และศาสตราจารย์ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. บรรยายพิเศษ “คุณภาพศิษย์ : เป้าหมายการประเมิน”

                         กิจกรรมในงานประกอบด้วย นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชในด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ ๘๕ พรรษา “คุณภาพการศึกษาไทยใต้ร่มพระบารมี” นิทรรศการสุดยอดผลงาน(The Best) จากต้นสังกัด ๑๐ แห่ง ได้แก่ ตชด /สำนักพุทธศาสนา/สพฐ/อปท./สกอ./สอศ/สช/กศน./เทศบาล นิทรรศการแสดงผลงานของ สมศ. เช่น ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ / นิทรรศการสถานศึกษา โครงการ ๑ ช่วย ๙ / นิทรรศการ Area-Based Assessment ฯลฯ นิทรรศการแสดงผลงานของภาคีเครือข่าย การจัดประชุมทางวิชาการครอบคลุมทุกกลุ่ม ภาคีเครือข่าย ร้านแสดงสินค้า/ขายของที่ระลึก ของสมศ. เวทีกิจกรรมแสดง ฯลฯ

                         ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมเป็นระยะเวลา ๒ วัน มีรายการที่สนใจหลายกิจกรรม เรื่องตั้งแต่เมื่อได้ชม วีดีทัศน์กิจกรรมของ สมศ. และการบรรยายของท่าน ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ “คุณภาพศิษย์เป้าหมายการประเมิน” ผอ.สมศ. ได้กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาของไทย คือการขาดความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พบว่าไทยเรามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเฉลี่ยแล้วปีละ ๒ คน ซึ่งมากที่สุดในโลก ทำให้เรื่องนโยบายต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อีกทั้งยังเกิดปัญหาการขาดการควบคุมเชิงคุณภาพ และขาดการกำกับเชิงปริมาณ ทั้งนี้ การขยายโอกาสให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ดีแต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการกำกับคุณภาพ ซึ่งในปี ๒๕๕๔ พบว่ามหาวิทยาลัยปิดที่รับนักศึกษามากที่สุดจำนวนกว่า หกหมื่นคนต่อแห่ง แต่มีอัตราอาจารย์ประมาณ ๓ พันคน คิดเป็นสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษา ๑:๒๒๖ คน ซึ่งใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยเปิดที่ไม่จำกัดจำนวนรับ มีสัดส่วนอยู่ที่ ๑:๓๖๕ ซึ่งไม่เหมาะสม ท่านจึงขอให้สถาบันการศึกษามีความตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษในการจัดการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ ส่งผลเสียทั้งต่อตัวนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง สังคม ประเทศชาติ และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายให้มีส่วนร่วมในการประกันคุณภาพการศึกษา มีการประกันคุณภาพของบัณฑิตไทย เด็กประถมต้องประกันว่าอ่านออกเขียนได้ อาชีวศึกษาเด็กจบแล้วต้องประกันได้ว่าต้องซ่อมเครื่องยนต์เป็น เมื่อจบมหาวิทยาลัยต้องรับประกันได้ว่าบัณฑิตจบไปมีความรู้เพียงพอในการเข้าสู่โลกแห่งการทำงาน ซึ่งในปี ๒๕๕๕ สมศ.ได้เริ่มปรับบทบาทเพื่อมีส่วนร่วมประกันคุณภาพ เช่นการพัฒนามาตรการเทียบเคียงเพื่อวัดภาวะการมีงานทำของบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ และมีโครงการ ๑ ช่วย ๙ ระยะที่ ๓ โดยเพิ่มจำนวนสถานศึกษาแกนนำในการพัฒนาเพิ่มเติมอีก ๙๙ แห่ง ฯลฯ

                         อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ “การนำผลการประเมินไปใช้” โดย ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดว่า ต้องดูจากว่าใครคือผู้ที่จะนำผลการประเมินไปใช้ อาจจะเป็นผู้บริหาร ครู เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง สิ่งสำคัญจะต้องขอดู รายงานการประเมินตนเอง รายงานการประเมินภายในต้นสังกัด ซึ่งจะมีข้อเสนอแนะบางข้อที่เป็นจุดด้อยหรือจุดที่ควรพัฒนา นำเสนอในระดับใด ระดับโรงเรียน หรือ ระดับเหนือโรงเรียนคือหน่วยงานต้นสังกัด พัฒนาในระดับนโยบาย หรือในระบบการประเมิน ภายในระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต้นสังกัด ในส่วนระดับสถานศึกษาก็ต้องจัดทำแผนกลยุทธ์ของสถานศึกษา ซึ่งในการติดตามการนำผลการประเมินไปใช้นั้น สมศ.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการนำผลการประเมินไปใช้ ประสานการทำงานในสถานศึกษา มีการประชุมกันทุกเดือนถึงการนำผลการประเมินไปใช้อย่างไร จากระบบการติดตามเริ่มเห็นว่าหน่วยงานต้นสังกัดเริ่มนำผลการประเมนไปใช้ได้ชัดเจนขึ้น มากขึ้นตามลำดับ ระบบการนำผลการประเมินไปใช้จะเป็นระบบได้ดีให้มี แผนภูมิขั้นตอน การกำกับวางแผนการนำผลการประเมินไปใช้ มีการพัฒนาคู่มือการนำผลการประเมินไปใช้

                         นอกจากนี้ยังมี “การเตรียมความพร้อมรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม : ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและปฐมวัย(กลุ่มที่ ๑) ซึ่งอภิปรายโดย ดร.มานิต บุญประเสริฐ รศ.อรุณี วิริยะจิตรา และ รศ.ดร.อุดมลักษณ์ กุลพิจิตร ได้รับทราบถึงวัตถุประสงค์ของการประเมินภายนอกของ สมศ.และแนวคิดการพัฒนาเครื่องมือที่มีจุดเน้นในการพัฒนาคุณภาพ และพัฒนาการ มีวิธีการประเมินตามสภาพจริง มีการรายงานผลการประเมินที่ถูกต้อง เชื่อถือ

                         สำหรับในตอนเช้าวันสุดท้าย เป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับ ชาวกศน.คือ เรื่อง “กศน. : ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินภายนอกรอบสาม” โดย รศ.ฉันทนา ไชยชิต ผอ.ศุทธินี งามเขตต์ ผอ.กิตติศักดิ์ รัตนฉายา และผู้ดำเนินรายการ ดร.ปาน กิมปี ซึ่งวิทยากรทุกท่านได้มีการชี้แจงอย่างละเอียดเกี่ยวกับตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกทุกตัว ตลอดจนแนวทางการประเมินรอบสามของ สมศ.การเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษา กศน. ทำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจมากขึ้น

                         ช่วงบ่ายสนใจเข้ารับฟังเรื่อง “ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ผู้ประเมินภายนอกรอบสาม ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” โดย ดร.มานิต บุญประเสริฐ ซึ่งมีผู้ประเมินภายนอกเข้าร่วมประชุมมากที่สุด ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวทางการดำเนินงาน การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายขณะได้ไปประเมินคุณภาพสถานศึกษาระดับต่างๆ และสุดท้าย เรื่อง “การให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาสถานศึกษาในแต่ละระดับ” โดยศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ให้ข้อคิดว่า สถานศึกษาควรนำข้อเสนอแนะที่มีอยู่ในส่วนของมาตรฐานต่างๆทุกข้อ จุดที่ควรพัฒนาคือการรักษาคุณภาพข้อที่ดี และดูแลข้อที่ควรพัฒนาทุกข้อ นำมาจัดทำแผนสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ท่านจะนำกรณีตัวอย่างการให้ข้อเสนอแนะต่อผู้เข้าฟังช่วยกันพิจารณาว่าจะนำเลือกมาพัฒนาเพื่อคุณภาพการศึกษาต่อไปอย่างไร

                         อย่างไรก็ตาม จากการประชุมครั้งนี้ ผู้เขียนได้ข้อคิดมาเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสถานศึกษาในสังกัด กศน. ประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ครู พนักงานราชการ หัวหน้า กศน.ตำบล และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจเป็นพื้นฐานในเรื่องมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา การประกันคุณภาพ ของ กศน. และตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม ของ สมศ. เพื่อการเตรียมความพร้อมรับการประเมินภายนอก จาก สมศ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่งเสริมสนับสนุนให้มีดำเนินงานกิจกรรม กศน. การนิเทศ กำกับ ติดตามให้มีแนวทางการนิเทศ ตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณาต่างๆ มีการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา แบ่งตามบทบาทหน้าที่ได้ดังนี้
                         ๑. บทบาทสำนักงาน กศน. ควรมีบทบาทในการส่งเสริม ดังนี้
                              ๑.๑ สำนักงาน กศน. โดยกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน ควรจัดประชุมชี้แจงให้แก่ระดับ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัด /ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ ทุกแห่ง /ศึกษานิเทศก์ และเจ้าหน้าที่งานประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ให้ได้รับความรู้ มีความเข้าใจชัดเจนในเรื่อง
                                   ๑) มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา การประกันคุณภาพภายใน ของ กศน. เพื่อดำเนินงานจัดระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา ให้ได้สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามมาตรฐานและตัวบ่งชี้ใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่
                                   ๒) เรื่อง “กศน. : ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินภายนอกรอบสาม”ตามที่ สมศ.ได้เปลี่ยนแปลงไป
                                   ๓) แนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อรับการประเมินภายนอก จาก สมศ.
                         ๑.๒ สำนักงาน กศน.ควรจัดสรรงบประมาณเฉพาะสำหรับดำเนินการในเรื่องการประกันคุณภาพให้แก่สำนักงาน กศน.จังหวัด และสำหรับสถานศึกษา เพื่อประชุมชี้แจงให้แก่สถานศึกษา หรือดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้อง
                         ๑.๓ คณะศึกษานิเทศก์ จากหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงาน กศน. ควรให้การสนับสนุนนิเทศ ติดตามสถานศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดสำหรับการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

                         ๒. บทบาทสำนักงาน กศน.จังหวัด สำนักงาน กศน.จังหวัด ควรมีบทบาท ดังนี้
                              ๒.๑ ให้มีการจัดประชุมชี้แจงสถานศึกษาในสังกัด ให้แก่ ครู พนักงานราชการ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง
                                   ๑) มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา การประกันคุณภาพ ของ กศน. เพื่อมีแนวทางการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษา ให้ได้สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน
                                   ๒) เรื่อง “กศน. : ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินภายนอกรอบสาม” เพื่อการเตรียมความพร้อมรับการประเมินภายนอก จาก สมศ.
                         ๒.๒ นิเทศ กำกับ ติดตามกิจกรรมงาน กศน. ให้ดำเนินการโดยมีแนวทางการนิเทศ ตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณาต่างๆ ในระบบประกันคุณภาพการศึกษา

                         ๓. บทบาทของสถานศึกษา
                              ๓.๑ การจัดประชุมชี้แจง ให้แก่ ครู พนักงานราชการ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ในสถานศึกษาให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจ สู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจังในเรื่อง
                                   ๑) มาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา การประกันคุณภาพ ของ กศน. เพื่อการแนวทางการดำเนินงานการประกันคุณภาพการศึกษา ภายในสถานศึกษา ให้ได้สามารถดำเนินการได้ครบถ้วน
                                   ๒) เรื่อง “กศน. : ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม” เพื่อการเตรียมความพร้อมรับการประเมินภายนอก จาก สมศ.
                              ๓.๒ ดำเนินการจัดกิจกรรม กศน.ทุกกิจกรรม โดยจัดสรรงบประมาณภายในแต่ละสถานศึกษาที่มีอยู่ในแต่ละกิจกรรม เพื่อพัฒนาให้มีแนวทางการดำเนินงานตามระบบ PDCA เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา การประกันคุณภาพ ของ กศน.โดยเทียบเคียงกับตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก ด้วยเช่น
                                   ๑) เร่งให้มีการพัฒนาการ “อัตลักษณ์” (Identity) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล อัตลักษณ์ของผู้เรียนของสถานศึกษาให้ชัดเจน โดยพิจารณาปรับให้สอดคล้องกับ ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามจุดเน้น และจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของทุกส่วน ผู้บริหาร ครู บุคลากร ผู้เรียน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา
                                   ๒) พัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา ตั้งแต่ ผู้บริหาร ครู พนักงานราชการ หัวหน้า กศน.ตำบล ครู ศรช. บุคลากรทางการศึกษาทุกคน ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ตลอดจนเกณฑ์พิจารณาแต่ละข้อ ให้สู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง พร้อมหลักฐาน เอกสารครบถ้วน
                                   ๓) พัฒนากระบวนการเรียนรู้/ แผนงาน/โครงการ/กิจกรรมต่างๆ โดยนำกิจกรรมที่ที่ควรพัฒนาซึ่งเป็นจุดด้อย จุดที่ควรพัฒนา ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ จากรายงานการประเมินตนเอง /รายงานการประเมินโดยต้นสังกัด/ รวมทั้งรายงานการประเมินภายนอกจาก สมศ ไปใช้ในการวางแผนเพื่อพัฒนากิจกรรมต่างๆ เพื่อนำผลไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้ดีขึ้น
                                   ๔) พัฒนาผู้เรียนให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา ในทุกกิจกรรม ทั้งการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาตามอัธยาศัย โครงการอื่นๆ ให้สอดคล้องตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ตลอดจนเกณฑ์พิจารณาแต่ละข้อ ให้สู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง พร้อมหลักฐาน เอกสารครบถ้วน
                              ๓.๓ พัฒนาการจัดระบบข้อมูล /การจัดระเบียบเอกสาร/ ทั้งการจัดแฟ้มงานต่างๆ การจัดระบบฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์/ อินเตอร์เน็ต/ เว็บไซต์ ให้มีระบบข้อมูล ระบบสารสนเทศ ที่สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการจัดระบบบริหารจัดการสถานศึกษา สามารถอ้างอิงได้ตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ ตลอดจนเกณฑ์พิจารณาตามแนวการประกันคุณภาพการศึกษา
                              ๓.๔ ควรจัดให้มีการนิเทศ กำกับ ติดตามกิจกรรมงาน กศน. ให้ดำเนินการโดยมีแนวทาง มาตรฐานตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณาต่างๆ ตามแนวระบบประกันคุณภาพการศึกษา
                              ๓.๕ ควรจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเชิญวิทยากรจากสถานศึกษาที่ได้ผ่านการประกันคุณภาพในระดับดีมาก หรือสถานศึกษาที่นำร่องในปีนี้เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน
                              ๓.๖ ศึกษาดูงานจากสถานศึกษาที่นำร่องสำหรับการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ ABA: Model (Area-Based Assessment) ในปีนี้ ๒๕๕๕ มีจำนวน ๘ จังหวัด คือสิงห์บุรี ชัยนาท สมุทรสงคราม พังงา ชุมพร ตราด อำนาจเจริญ แพร่ หรือสถานศึกษาที่เคยได้ผ่านการรับรองประกันคุณภาพในระดับดีมาก
                              ๓.๗ ดำเนินการประเมินตนเอง(SAR) ตามมาตรฐาน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา ของ กศน.ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ส่งหน่วยงานต้นสังกัด ตามกำหนดเมื่อสิ้นงบประมาณ
                              ๓.๘ ดำเนินการอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร เพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานประกันคุณภาพของสถานศึกษาให้ดีขึ้น และเตรียมความพร้อมรอรับการประเมินภายนอกรอบสามจาก สมศ.

                         จากข้อคิดเห็นที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้ในที่นี้ เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่าที่คิดได้ ขอฝากไว้สำหรับผู้ที่มี ส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา กศน.ทุกภาคส่วน หวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมสถานศึกษาให้มีความพร้อมในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมา เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้มีความพร้อมรับการประเมินภายนอกรอบสามจาก สมศ. อีกทั้งจะนำไปสู่การพัฒนา “คุณภาพ ศิษย์ กศน.” ให้มีคุณภาพตามที่ตั้งความคาดหวังไว้ได้อย่างแน่นอน @@@@@@@@@


เข้าชม : 5946


การศึกษา 5 อันดับล่าสุด

      เผยแพร่เอกสารวิชาการ: นางวนิดา หาญสำเภา 14 / ส.ค. / 2557
      เผยแพร่ผลงานวิชาการ 25 / มี.ค. / 2556
      ข้อคิดจากการประชุมประกันคุณภาพการศึกษา นำสู่การพัฒนา “คุณภาพ ศิษย์ กศน.” 13 / พ.ย. / 2555
      “สถานศึกษา กศน.พอเพียง” คำตอบสุดท้ายของ “คุณภาพ กศน.สู่สังคม” 13 / พ.ย. / 2555
      การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain based Learning: BBL) 16 / พ.ค. / 2555