[x] ๏ฟฝิดหน๏ฟฝาต๏ฟฝาง๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ
 
 
 
 


เนื้อหา : บทความสาระน่ารู้
หมวดหมู่ : การศึกษา
หัวข้อเรื่อง : “สถานศึกษา กศน.พอเพียง” คำตอบสุดท้ายของ “คุณภาพ กศน.สู่สังคม”

อังคาร ที่ 13 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2555

คะแนน vote : 165  


“สถานศึกษา กศน.พอเพียง” คำตอบสุดท้ายของ “คุณภาพ กศน.สู่สังคม”
 

สุกัญญา จันทะสูน
สำนักงาน กศน.จังหวัดพิษณุโลก

                        เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลทรงครองสิริราชสมบัติ ๖๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ กระทรวงศึกษาธิการมีความสำนึกในพระหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงได้รับการยกย่องจากนานาประเทศเป็นกษัตริย์นักพัฒนา จึงได้น้อมนำพระราชดำรัสเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง”มาเป็นกรอบแนวคิดและแนวทางในการส่งเสริมสถานศึกษาทั่วประเทศให้นำไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังและเหมาะสมเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การดำเนินชีวิตของบุคลากรด้านการศึกษาและผู้เรียนให้อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียงรวมทั้งเป็นภูมิคุ้มกันของสังคม และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ตลอดจนมีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดและในกำกับร่วมประสานความร่วมมือในการดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ซึ่งได้กำหนดไว้ ๔ ประการ คือ
                        ๑. การสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมในรูปแบบต่างๆการพัฒนาบุคลากรเครือข่าย การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
                        ๒. การนำสู่การปฏิบัติ โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การเรียนการสอนและการบริหารจัดการในสถานศึกษา
                        ๓. การประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงเครือข่าย โดยการจัดทำฐานข้อมูลกลางเศรษฐกิจพอเพียง
                        ๔. การติดตามประเมินผล โดยการพัฒนาดัชนีตัวชี้วัดความพอเพียงของสถานศึกษา การติดตามผลงานในพื้นที่ การรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน การประเมินผลนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่รับบริการตลอดจนการเชื่อมโยงผลงานของครู/ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จกับการประเมินวิทยฐานะ
                        ในการดำเนินงานดังกล่าว เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๐ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา และกิจการพิเศษ ร่วมกับสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการประจำเขตตรวจราชการที่ ๑-๑๒ และ กทม.ดำเนินการติดตามประเมินผลสถานศึกษาที่ดำเนินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา และดำเนินการคัดเลือกสถานศึกษาแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปแล้วจำนวน ๑๓๕ แห่ง สำหรับปีงบประมาณ ๒๕๕๑ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานโดยการพัฒนาตัวชี้วัดการประเมินให้ครอบคลุมทุกระดับการศึกษาและจัดทำคู่มือประเมินฯ เพื่อใช้ในการประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในปีงบประมาณ ๒๕๕๒ จำนวนไม่น้อยกว่า ๘๐๐ แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ตามแผนการดำเนินงาน ระยะที่ ๒ ของยุทธศาสตร์โครงการขับเคลื่อนปรัชญาฯ สู่สถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (กระทรวงศึกษาธิการ : ๒๕๕๒)
                        สำหรับ สำนักงาน กศน. ได้มีการดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษามีการจัดสรรเงินงบประมาณให้สถานศึกษาในสังกัดตลอดระยะเวลาดำเนินการ แต่มีจำนวนสถานศึกษา ที่ได้เข้าสู่การประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ มีจำนวนน้อย โดยมีสาเหตุจากความไม่เข้าใจในวิธีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์การประเมิน ไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำงานไปในลักษณะให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมครบตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ จัดอาชีพระยะสั้น มีการอบรมระยะสั้น ฯลฯ เพื่อให้มีการใช้จ่ายเงินครบตามจำนวนงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี หรือเนื่องมาจากเกณฑ์การประเมิน องค์ประกอบต่างๆ ตัวชี้วัด ตลอดจนเกณฑ์พิจารณาที่มีความละเอียดมาก ทำให้ไม่สนใจที่จะดำเนินการ สำนักงาน กศน. ก็ไม่ได้มีจุดเน้นหรือนโยบายเน้นย้ำให้ชัดเจนอย่างไร หรือหลายๆ สาเหตุ หลายๆ ปัจจัยทำให้การขับเคลื่อนยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร จึงยังมีสถานศึกษา กศน.อำเภอจำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประเมินดังกล่าว ดังนั้น เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในปีงบประมาณ ๒๕๕๔-๒๕๕๖ สำนักงาน กศน. จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน ชุดละ ๓ คน ซึ่งประกอบด้วย บุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน.จำนวน ๒ คน และบุคลากรเครือข่ายในสังกัดอื่น เช่น สพฐ. / อาชีวศึกษา ฯลฯ อีก ๑ คน โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็นภูมิภาค กลุ่มศูนย์ฯ จังหวัด และกทม. ซึ่งมีคณะกรรมการทั้งสิ้น ๒๐ ชุด และได้มีการประชุมชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการดังกล่าว เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ ห้องประชุมบรรจง ชูสกุลชาติ สำนักงาน กศน. กรุงเทพมหานคร
                        ในโอกาสที่ ผู้เขียนในฐานะเป็นกรรมการได้ไปร่วมประชุมด้วย สรุปได้ว่าการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คณะกรรมการประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา (สถานศึกษาพอเพียง) ปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินสถานศึกษาพอเพียง การรายงานผลการประเมิน การจัดส่งข้อมูลหลักฐานการประเมินสถานศึกษาพอเพียงที่ชัดเจน สมบูรณ์และถูกต้อง โดยมีท่าน ดร.ธวัช ชลารักษ์ รองเลขาธิการ สำนักงาน กศน.เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมและให้แนวคิดในการดำเนินงานของคณะกรรมการให้ประเมินตามสภาพจริงของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งในปี ๒๕๕๕ นี้มีสถานศึกษา กศน.อำเภอ ที่ได้ส่งแบบประเมินตนเองและผ่านเกณฑ์ จำนวน ๑๖๖ แห่ง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คณะกรรมการชุดนี้จะต้องไปดำเนินการประเมินให้แล้วเสร็จ ภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ในการนี้ ทางกลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ สำนักงาน กศน. ซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการโครงการประเมินสถานศึกษาพอเพียง ได้กล่าวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน จะมีชุดละ ๓ ท่าน สำนักงาน กศน.มอบหมายให้ บุคลากร กศน. เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยเลือกจากที่เหลืออีก ๒ ท่าน เป็นประธานกรรมการ ๑ คน และชี้แจงคู่มือการประเมินเกณฑ์การพิจารณาต่างๆ ตลอดจนเรื่องงบประมาณในการดำเนินงาน ซึ่งทางสำนักงาน กศน.ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น ๖๐๙,๖๘๘ บาท ซึ่งจะโอนผ่านจังหวัดที่เป็นประธานกลุ่มศูนย์ฯ ให้ดำเนินการเบิกจ่าย และในช่วงบ่ายคณะกรรมการทุกชุดได้จัดทำแผนกำหนดการประเมินสถานศึกษาพอพียง ระยะเวลาในการดำเนินการประเมินสถานศึกษา แห่งละ ๑ วัน และกำหนดส่งรายงานผลการประเมินให้สำนักงาน กศน.ภายในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เมื่อคณะกรรมการประเมินส่งข้อมูลครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการประเมินจากส่วนกลาง โดยสำนักงาน กศน. จะสุ่มตรวจเช็คประเมินซ้ำสถานศึกษาบางแห่ง อีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงประกาศผลการประเมินเป็นทางการ เพื่อไปรับรางวัล “สถานศึกษาพอเพียง” ต่อไป
                        จากการที่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อนำเสนอสู่การปฏิบัติสำหรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มจาก สำนักงาน กศน.ควรเร่งสร้างความตระหนัก และทำความเข้าใจ โดยการประชุมชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่งให้ขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งอาจมอบหมายให้ศึกษานิเทศก์จากส่วนกลางไปให้คำแนะนำในวิธีการดำเนินงานขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด ในส่วนของสถานศึกษาทุกแห่งควรจัดประชุมชี้แจง ให้แก่ ครู พนักงานราชการ และบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในสถานศึกษาให้ได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง วิธีการ แนวทางการจัดกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการบูรณาการเข้าในหลักสูตร มีการจัดทำแผนการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับการประเมิน ตัวบ่งชี้ และเกณฑ์พิจารณา ที่มีทั้งหมด ๕ ด้าน ๑๘ องค์ประกอบ ๖๒ ตัวบ่งชี้ คือ ด้านบริหารจัดการสถานศึกษา ด้านหลักสูตรและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
                        ด้านการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา และด้านผลลัพธ์/ภาพความสำเร็จ สถานศึกษาต้องเร่งพัฒนาและสร้างระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาให้สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา เช่น ดำเนินการจัดกิจกรรม กศน.โดยจัดสรรงบประมาณภายในแต่ละสถานศึกษาที่มีอยู่ในแต่ละกิจกรรม มีหลักในการพัฒนาโดยใช้ แนวทางการดำเนินงานตามระบบ PDCA ทุกกิจกรรมให้สอดคล้องตามเครื่องมือการประเมินและเกณฑ์คุณภาพสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา โดยพิจารณาปรับให้สอดคล้องกับ ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษาด้วย เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามจุดเน้นและจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนให้เห็นการบูรณาการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินงานของแต่ละสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของทุกส่วน ผู้บริหาร ครู บุคลากร ผู้เรียน กรรมการสถานศึกษา เครือข่าย ด้านการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา ตั้งแต่ ผู้บริหาร ครู พนักงานราชการ หัวหน้า กศน.ตำบล ครู ศรช. บุคลากรทางการศึกษาทุกคน ให้มีการปฏิบัติตนสอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขอให้ยึดหลัก ๓ ประการ มีหลักเหตุผล พอประมาณ ภูมิคุ้มกัน และ ๒ เงื่อนไข ด้านความรู้ และคุณธรรม ให้สู่การปฏิบัติได้อย่างจริงจัง นับตั้งแต่การดำรงชีวิตในประจำวัน การพัฒนาตนเองในทุกๆ เรื่อง ในส่วนของผู้เรียนควรพัฒนาให้ได้คุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ให้พัฒนาโดยยึดแนวทางการบูรณาการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในทุกกิจกรรม ทั้งการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน การศึกษาตามอัธยาศัย มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาผู้เรียนให้สู่การปฏิบัติตนดำรงชีวิตประจำวัน ในวิถีชีวิต การปฏิบัติตนในบ้าน ในชุมชนและสังคม ได้อย่างจริงจัง
                        นอกจากนี้ สถานศึกษาควรเร่งพัฒนาการจัดระบบข้อมูล /การจัดระเบียบเอกสาร/ ทั้งการจัดแฟ้มงานต่างๆ การจัดระบบฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์/ อินเตอร์เน็ต/ เว็บไซต์ ให้มีระบบข้อมูล ระบบสารสนเทศ ที่สามารถนำเสนอข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นการจัดระบบบริหารจัดการสถานศึกษาตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถอ้างอิงได้ สถานศึกษาควรจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้เห็นจริง โดยเชิญวิทยากรจากสถานศึกษาที่ได้ผ่านการประเมินสถานศึกษาพอเพียง เป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน ทั้งจาก สพฐ.และ กศน. ซึ่งมีประสบการณ์จริง อีกกิจกรรมที่สำคัญ ก็คือการศึกษาดูงานจากสถานศึกษา ทั้งของ สพฐ และ กศน.อำเภอที่ผ่านการประเมินสถานศึกษาพอเพียง ทำให้บุคลากรให้เห็นแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษาของตนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น สำหรับ บทบาทของสำนักงาน กศน.จังหวัด ควรจัดให้มีการนิเทศ กำกับ ติดตามกิจกรรมงาน กศน. ให้ดำเนินการนิเทศโดยมีแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเครื่องมือในการนิเทศจะได้เป็นการแนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนให้สถานศึกษาสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมไปได้อย่างดี มีพี่เลี้ยงที่ดี มีความมั่นใจมากขึ้น และอย่าลืมสิ่งสำคัญสถานศึกษาต้องมีการประเมินตนเองตามแบบเครื่องมือประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และส่งต้นสังกัดเป็นการเตรียมความพร้อมรับการประเมินต่อไป
                        ในที่สุดนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ในการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาสถานศึกษาโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติได้ไม่มากก็น้อย และเชื่อมั่นว่า ในปี ๒๕๕๕-๒๕๕๖ สถานศึกษา กศน.อำเภอทุกแห่ง ในสังกัดสำนักงาน กศน.จะได้ผ่านการประเมินเป็น “สถานศึกษาพอเพียง” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึง “คุณภาพ กศน. สู่สังคม” จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพเพื่อ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะพัฒนาสู่การศึกษาตลอดชีวิตในทุกชุมชนต่อไป

 
หนังสืออ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. คู่มือประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง ปีงบประมาณ ๒๕๕๒. กรุงเทพฯ : ๒๕๕๒.

ศูนย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง, กระทรวงศึกษาธิการ. รายการประเมินและเกณฑ์คุณภาพสถานศึกษาแบบอย่าง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(สถานศึกษา พอเพียง) ระดับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. กรุงเทพฯ : ๒๕๕๔.


เข้าชม : 8815


การศึกษา 5 อันดับล่าสุด

      เผยแพร่เอกสารวิชาการ: นางวนิดา หาญสำเภา 14 / ส.ค. / 2557
      เผยแพร่ผลงานวิชาการ 25 / มี.ค. / 2556
      ข้อคิดจากการประชุมประกันคุณภาพการศึกษา นำสู่การพัฒนา “คุณภาพ ศิษย์ กศน.” 13 / พ.ย. / 2555
      “สถานศึกษา กศน.พอเพียง” คำตอบสุดท้ายของ “คุณภาพ กศน.สู่สังคม” 13 / พ.ย. / 2555
      การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain based Learning: BBL) 16 / พ.ค. / 2555